หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ

Academic > AE

ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย ที่เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 โดยหลักสูตรครอบคลุมการศึกษาทางด้านอากาศพลศาสตร์
การวิเคราะห์โครงสร้าง การขับดันอากาศยาน การออกแบบเพื่อการสร้าง การซ่อมบำรุงอากาศยาน วิศวกรรมอวกาศ การเรียนการสอนในหลักสูตรมุ่งเน้นการผสมผสานทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ ตามแนวคิดในการพัฒนาความรู้ของนิสิตด้วยการคิดและการปฏิบัติจริง ดังคำกล่าวที่ว่า “Learning by Doing” 

หลักสูตร
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ ใช้เวลาศึกษารวม 4 ปี มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 145 หน่วยกิต หลักสูตรประกอบด้วยการศึกษาทางด้านอากาศพลศาสตร์ การวิเคราะห์โครงสร้าง การออกแบบอากาศยาน กระบวนการผลิต การซ่อมบำรุงอากาศยาน เครื่องยนต์เจ็ท
และเทคโนโลยีอวกาศ

เรียนรู้จากการคิดและการปฏิบัติจริง
หลักสูตรนี้มุ่งเน้นให้นิสิตได้พัฒนาความรู้ผ่านการการคิดและการปฏิบัติจริง ภาควิชาฯ มีความพร้อมในด้านเครื่องมือทดสอบต่างๆ ทั้ง
เครื่องทดสอบความแข็งแรงของวัสดุ เมื่อสำเร็จการศึกษาในชั้นปีที่ 3 นิสิตจะได้มีโอกาสฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเรียนรู้การปฏิบัติงานจริงโดยใช้เวลาฝึกงานรวมไม่น้อยกว่า 240 ชั่วโมง ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ฝ่ายซ่อมบำรุงของสายการบินต่างๆ
โรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน นอกจากนี้ นิสิตสามารถเลือกเข้าร่วมโครงการสหกิจศึกษา เพื่อฝึกงานกับสถานประกอบการทางด้านวิศวกรรมซึ่งนิสิตจะได้ปฏิบัติงานจริงแบบเต็มเวลา เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา โดยได้รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบที่แน่นอน และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการนิสิตจะได้รับการประเมินผลเป็นหนึ่งวิชาในหลักสูตรด้วย

โครงงานวิศวกรรม
เมื่อนิสิตศึกษาในชั้นปีที่ 4 นิสิตจะต้องทำโครงงานเพื่อนำความรู้ที่ได้ศึกษามาใช้วิเคราะห์และแก้ปัญหาทางวิศวกรรมในหัวข้อที่นิสิตสนใจ ทั้งการศึกษา
ในเชิงทฤษฎีและประยุกต์ โดยมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำปรึกษา อาทิ การวิเคราะห์และพัฒนารูปทรงอากาศยานตามทฤษฎีทางอากาศพลศาสตร์ผ่านแบบจำลองการไหลในคอมพิวเตอร์และการทดสอบในอุโมงค์ลม การวิเคราะห์และพัฒนาโครงสร้างและชิ้นส่วนอากาศยานด้วยแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ การทดสอบทางโครงสร้าง วัสดุน้ำหนักเบาและวัสดุผสม การออกแบบและการผลิตอากาศยานไร้คน (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) และอากาศยาน
ไร้คนขนาดเล็ก (Micro Aerial Vehicle: MAV) การออกแบบระบบควบคุมอากาศยานปีกหมุน เป็นต้น

กิจกรรมเสริมหลักสูตร
นอกเหนือจากการศึกษาทางด้านวิชาการแล้ว ทางภาควิชาฯ ได้ส่งเสริมให้นิสิตจัดกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนและกำกับดูแลของคณาจารย์ เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานและนำความรู้ที่ได้ศึกษามาก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม เช่น
– โครงการ AeroCamp ให้ความรู้ด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ
แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อและการเลือกเส้นทางอาชีพ

เส้นทางอาชีพ
นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรฯนี้ สามารถทำงานได้ทั้งสายงานด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ และสาขาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ออกแบบและสร้างอากาศยาน พัฒนาเครื่องยนต์เจ็ท ควบคุมการซ่อมบำรุงอากาศยานและชิ้นส่วนประกอบ
การควบคุมวงโคจรและสถานีดาวเทียม ปัจจุบันบัณฑิตจากหลักสูตรนี้มีโอกาสได้งานในองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศ เช่น ฝ่ายวางแผนและซ่อมบำรุงของสายการบินต่าง ๆ บริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และบริษัทผลิตเครื่องบิน เช่น Airbus เป็นต้น

รายละเอียดหลักสูตร